เรื่อง และ ภาพ จักรกริช ฉิมนอก
ซากของความตาย - ร่างคนเป็น - นัย ศิลปะ ( Arcass – Body – Significence Art )
มนุษย์และสิ่งมีชีวิตได้ถูกอนุญาตให้ใช้ร่างกายในเวลาที่กำหนด ก่อนที่จะแปรเปลี่ยนเป็นธาตุต่างๆและถูกกลืนหายกลับไปสู่ธรรมชาติ
ความรู้สึกนึกคิดและสติปัญญาทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในรูปแบบต่างกัน การแสดงออกของร่างกาย เป็นสื่อชนิดแรกที่ทำให้คนสามารถติดต่อสื่อสารกัน อากัปกิริยาท่าทางบ่งบอกอารมณ์ ความรู้สึก และการแสดงออกเหล่านี้จะค่อยๆก่อรูปร่าง ฝังความทรงจำเข้าไปสู่วิญญาณอันว่างเปล่า จนกลายเป็นบุคลิกภาพ ถูกควบคุมด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆกันไปตามสภาพแวดล้อม ประสบการณ์ วัฒนธรรม ประเพณี เชื้อชาติ ศาสนา เพศ ฯลฯ
อารยา ราษฎร์จำเริญสุข ( Araya Rasdjarmrearnsook ) ศิลปินและนักเขียนหญิง ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะและจัดแสดงนิทรรศการทั้งในประเทศ และนิทรรศการระดับนานาชาติ โดยได้แรงบันดาลใจจาก “ซากของความตาย” มาเป็นเรื่องราวร้อยเรียงสร้างสรรค์และแสดงออกในรูปแบบของผลงานศิลปะ ภาพพิมพ์ 2532 -2533 “ผืนดินสีดำกว้างมีมิติลึกสมมุติในงานภาพพิมพ์ราวกับจะทอดยาวไปถึงบ้านที่จากมา บนผืนสีดำกว้างนั้นผู้อยู่ไกลแวะเวียนมาเยี่ยม มาเยือน ยายที่ตายแล้วมาพร้อมกับหลานๆ” ผลงานชื่อ เมื่อวัตถุป่วย (When an Objet Gets Sick 1994 ) มีที่มาจากการเจ็บป่วยและสูญเสียพ่อด้วยโรคมะเร็ง “การพำนักอยู่เยอรมนีครั้งที่สองในหอพักนักศึกษาขนาด 11 ตารางเมตร กับอวลความตายของพ่อที่ ‘ จับจิต’ ศิลปะรูปแบบ installation” ต่อมาศิลปินได้เปลี่ยนจากซากความตาย มาเป็นการใช้ “ร่างคนเป็น ( Body )” ศิลปิน ในการแสดงออก ( Perform ) ขับขานวรรณคดีไทยและแต่งตัว ให้ร่างคนตายที่นอนแช่นิ่งแข็ง ด้วยคิดว่า “ ถ้าไม่ใช้ศิลปะปูทางทอดให้ไหนเลยใครจะกล้าลงมือขืนทวนวัฒนธรรมความเชื่อเดิมๆมีอยู่ ” เข้าประกอบในผลงาน ชื่อ Reading for three female corpses 2001 , Reading for female corpses 2001 ,A Walk 2002 ,Reading for corpses 2002 , I’ am living 2002 ,Sudsiri & Araya 2002 , สนทนากับความตายบนถนนสายแรกของชีวิต (Conversation with Death on Life’s First Street 2005 ด้วยการบันทึกวีดีโอ และจัดแสดงในรูปแบบ video art - installation
“ มันควรเริ่มที่วัยเด็ก จุดเริ่มของเวลาที่ค้างคาแช่นิ่งของ ณ ขณะนี้ต่างหาก แล้วมันควรเป็นกลางคืน ก็แล้วมันควรเป็นฤดูกาลใดเล่า ในขณะที่สายน้ำเย็น สายถนนนั้นอุ่น ดูเหมือนเรามีทางเลือกเสมอ อย่างนั้นใช่หรือไม่ ช่วงขณะอบอุ่นของชีวิตจะมีอยู่นานเท่าใด และอีกเท่าใด แม่น้ำสายนั้นดูเหมือนไม่อาจถูกแทนที่ได้ด้วยสายน้ำไหน เด็กน้อยยืนเกาะลูกกรงชานเรือนอย่างงุนงง สายน้ำเคยคุ้นไหลแรงสู่เส้นสุดท้ายของชีวิต แม่ไม่กลับมาอีกเลย ความฝังจำต่อเรื่องใดก็ตามควรมีทางออกสำหรับผู้จำอย่างนั้นใช่มั้ย แม่น้ำก็เช่นกัน มีอะไรเล่าที่เราแลกได้ด้วยชีวิต? ก็...นี้ไม่ใช่เรากำลังแลกด้วยด้วยการมีชีวิตหรือเล่า? ปล่องเมรูสูงพ่นควันดำลอยเจือไปในฟ้ายามจวนค่ำ สัญญาณของการจากลาพยักพเยิดเพรียกให้ไปหา ฉากและตัวละคร(ไม่รู้ว่าอันไหนเป็นอันไหน)ที่เล่นบทความตายในวัดทำให้เราพิศวง เราสรุปจับความตายไม่ได้เลยว่าคืออะไรกันแน่ จักรยานยังเลียบผ่านสุสานฝรั่งรกร้างในสายวันหยุด ไม่ใช่แต่ชีวิตเท่านั้นที่ร้าง ความตายก็รกร้างได้ ทั้งๆที่วิญญาณของถนนสงัดเท่ากับวิญญาณในป่าช้าแต่ต่างถูกแบ่งกั้นออกจากกัน ถ้าไม่ผ่านความตายเล่า เราจะมีสุญญากาศของการมีชีวิตจากเหตุอื่นหรือไม่ ” เรียบเรียงประโยคจากตัวเน้นสีเข้มในบทความ “ ถ้อยความ : สนทนากับความตายบนถนนสายแรกของชีวิต / ศิลปะกับถ้อยความ ( Art and Words ) อารยา ราษฎร์จำเริญสุข”)
บทสนทนาใหม่ เริ่มขึ้นระหว่างคนดูกับผลงานในนิทรรศการชุดใหม่ จอทีวีและกรอบสีเข้มของรูปภาพงานในเนื้อจอ แขวนเรียงแถวเรียบร้อยข้างผนังสีขาวสะอาดตา ด้วยบรรยากาศเหงาๆของศิลปิน ในเนื้องาน มีร่างคนเป็นและร่างหมาเป็นๆ เป็นทัศนะธาตุ( element ) เคลื่อนไหว( movement ) ธรรมชาติแวดล้อมปรากฏเป็นฉากประกอบถูกจัดว่างมุมกล้องสวยงามตามทฤษฎีองค์ประกอบศิลป์ และ นัย ศิลปะที่ต้องตีความ กับประโยคตัวหนังสือที่ติดอยู่ข้างๆ จอทีวีแต่ละเครื่องสำหรับนักอ่าน นักคิด นักตีความและนักวิจารณ์ ฯลฯ
“ ในสถานการณ์เช่นนี้ สิ่งพึงควรใส่ใจ คือการทรยศของดวงจันทร์ ( In this circumstance, the sole objet of attention should be the treachery of the moon.) โดย อารยา ราษฎร์จำเริญสุข ” จัดแสดงที่ ARDEL Gallery of Modern Art
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น